ทริปดำน้ำสุดท้าทาย ที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซีย 1 ในจุดดำน้ำที่ดีที่สุดในโลก

Travel Story
29 เม.ย. 67
1,124
0

เมื่อเอ่ยชื่อหมู่เกาะราชาอัมพัต (Raja Ampat) สำหรับคนที่ไม่เคยดำน้ำมาก่อน อาจสงสัยว่า นี่คือที่แห่งใดและมีอะไรน่าสนใจ แต่สำหรับคนรักการดำน้ำและชอบท่องเที่ยวทะเลแล้วนั้น หมู่เกาะแห่งนี้นับเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ ด้วยเป็นจุดดำน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้

ผมเดินทางไปหมู่เกาะราชาอัมพัตครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 สมัยนั้นต้องต่อเครื่องบินหลายต่อกว่าจะถึงเมืองโซรอง ซึ่งเป็นเสมือนประตูสู่หมู่เกาะราชาอัมพัต ทว่าทุกวันนี้มีเครื่องบินเจ็ตที่บินตรงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองโซรองแทบทุกวัน วันละหลายๆ เที่ยวบิน แต่ไฟลต์ที่เหมาะสมมากที่สุดคือ ออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย แล้วต่อเครื่องตอนตี 1 เพื่อบินตรงไปถึงเมืองโซรองในตอนเช้า

สำหรับนักดำน้ำแบบ Scuba แนะนำให้ใช้เรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveaboard เรือขนาดใหญ่ที่จะพาเราไปดำน้ำตามจุดต่างๆ โดยเปลี่ยนพื้นที่ดำน้ำไปตามเส้นทางที่หลากหลาย และเราจะพักกันอยู่บนเรือ ซึ่งมีให้เลือกใช้บริการตั้งแต่ 5 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ ผมเคยใช้เวลาเกือบ 20 วัน บนเรือ ก็ยังดำน้ำไม่ครบทุกจุดในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของราชาอัมพัต

ทริปดำน้ำของราชาอัมพัต แบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 เส้นทาง สำหรับคนที่มีเวลาจำกัดเพียงไม่กี่วัน คือทางตอนเหนือในบริเวณเกาะ Waigeo และ Batanta ที่เรียกว่า Dampier Strait จุดดำน้ำในบริเวณนี้ส่วนใหญ่น้ำจะใส มีฝูงปลามากมาย โดยเฉพาะฝูงปลา Sweetlips นับร้อยที่ Cape Kri ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของราชาอัมพัต และปลาขนาดใหญ่อย่าง ปลากระเบนราหู ที่มักจะเข้ามาทำความสะอาดร่างกายในบริเวณจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงอย่าง Manta Sandy และ Manta Ridge

ในขณะที่ทางตอนใต้ในแถบหมู่เกาะ Misool นั้น เป็นพื้นที่ที่โลกใต้ทะเลงดงามไปด้วยสีสันต่างๆ ของปะการังอ่อน กัลปังหา และโลกมาโครอันหลากหลาย รวมไปถึงการได้แหวกว่ายไปกับฝูงฉลามครีบดำอย่างใกล้ชิด และสิ่งที่พลาดไม่ได้ คือการเดินขึ้นไปชมเวิ้งอ่าวรูปหัวใจ (Heart-shaped Lagoon) บนเกาะ Karawapop อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของราชาอัมพัต

ราชาอัมพัตเป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลตามตัวว่าราชาทั้ง 4 ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่ 4 เกาะ คือ Waigeo, Misool, Salawati, Batanta และมีเกาะบริวารน้อยใหญ่อีกมากกว่า 1,500 เกาะ ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะปาปัว เกาะขนาดใหญ่ที่ถูกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยทางฝั่งตะวันออกของเกาะปาปัว คือประเทศปาปัวนิวกินี ขณะที่ฝั่งตะวันตกเป็นดินแดนของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตเคยเรียกว่า Irian Jaya ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดเวสต์ปาปัว (West Papau) ในปี ค.ศ. 2002

เมืองโซรอง ประตูสู่หมู่เกาะราชาอัมพัตนั้น แม้จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดของเวสต์ปาปัว แต่มีความแตกต่างจากบาหลีหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ เพราะสิ่งที่ทำให้ผู้คนเดินทางมายังเมืองนี้มีเพียงอย่างเดียว คือความงดงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะโลกใต้ท้องทะเลของหมู่เกาะราชาอัมพัต ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางความหลากหลายทางธรรมชาติ ในบริเวณที่เรียกว่า Coral Triangle นับได้ว่าเป็นท้องทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้เลยทีเดียว

ฝูงปลา Ribbon Sweetlips นับร้อยตัวรวมฝูงกันอยู่ในความลึกมากกว่า 30 เมตร ในบริเวณ Cape Kri นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่งของโลกใต้น้ำที่หมู่เกาะราชาอัมพัต

ปลากระเบนราหูสีดำ หรือ Black Manta เป็นสีที่เกิดจากกระบวนการ Melanism ที่มากผิดปกติ พบได้มากในกลุ่มกระเบนราหูที่ราชาอัมพัต โดยพบมากถึง 40% เลยทีเดียว ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ จะพบจำนวนน้อยกว่า

Moon Jellyfish จำนวนมากมารวมตัวกันในบริเวณอ่าวแห่งหนึ่งของเกาะ Gam

นกปักษาสวรรค์แดง (Red Bird-of-Paradise หรือ Paradisaea Rubra) เป็นนกปักษาสวรรค์เฉพาะถิ่นที่พบอยู่ในเฉพาะบริเวณป่าที่ราบต่ำของเกาะ Waigeo และ Batanta ในหมู่เกาะราชาอัมพัตเพียงเท่านั้น

Santa Claus Pygmy Seahorse (Hippocampus Denise) ม้าน้ำแคระตัวจิ๋ว มีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตร เป็น Variation ของม้าน้ำแคระสายพันธุ์ Denise ที่พบบนกัลปังหาสีแดงที่พบเฉพาะในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัต ในปัจจุบันมีการค้นพบ Pygmy Seahorse มากกว่า 8 สายพันธุ์ และสามารถพบเห็นในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัตได้ถึงอย่างน้อย 4 สายพันธุ์

นักดำน้ำกับกัลปังหารูปพัดหรือ Sea Fan และฝูงปลา ในบริเวณจุดดำน้ำที่ชื่อว่า Mike’s Point คือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของโลกใต้น้ำแห่งราชาอัมพัต

ปลาฉลามครีบดำ ว่ายเข้ามาหากินในบริเวณใกล้ชายหาดอันเงียบสงบของเกาะ Misool

สำหรับจุดดำน้ำในบริเวณเกาะ Misool นี้ได้รับการจัดการและควบคุมการดำน้ำโดย Misool Foundation องค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดย Misool Eco Resort ได้มีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ของเรือทุกลำที่เข้ามาดำน้ำ จัดตั้งหน่วยลาดตระเวนในพื้นที่ Misool Marine Reserve รวมทั้งห้ามการทำประมงผิดกฎหมาย ห้ามจับฉลาม โดยใช้ Park Ranger เพียง 18 คน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และเดิมเป็นชาวประมง ใช้เรือเร็วติดเครื่องยนต์จำนวน 5 ลำ คอยตรวจตราสอดส่องพื้นที่ที่เรียกว่า No-take Zone ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งหมดใช้เงินสนับสนุนจากการบริหารจัดการเก็บค่าธรรมเนียมจากแขกที่มาเข้าพักที่ Misool Eco Resort และเรือทุกลำที่เข้ามาใช้พื้นที่ จำนวน 100 USD ต่อคน

ซึ่งระบบการจัดการการดำน้ำในบริเวณเกาะ Misool นี้ เป็นความร่วมมือกันของภาคเอกชนหลายๆ แห่งจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น WildAid, The Nature Conservancy, Conservation International รวมไปถึง USAID (United States Agency for International Development) ของสหรัฐอเมริกา

Heart-shaped Lagoon หรือเวิ้งอ่าวรูปหัวใจบนเกาะ Karawapop หรือ Dafalen ในภาษาถิ่น เป็นเวิ้งอ่าวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินไต่หน้าผาเพื่อขึ้นไปถ่ายภาพจากมุมสูงได้เช่นเดียวกับจุดชมวิว Piaynemo อันโด่งดัง

Blue Water Mangrove เป็นแนวป่าชายเลนที่ตั้งอยู่บนเกาะ Nampale ทางด้านตะวันตกของเกาะ Misool อันห่างไกล ทำให้น้ำในบริเวณป่าชายเลนแห่งนี้มีความใสและหลากหลายไปด้วยสรรพชีวิต เป็นอีกหนึ่งจุดดำน้ำที่โดดเด่นของราชาอัมพัต

นักดำน้ำขณะดำน้ำสำรวจแนวป่าชายเลนบริเวณ Blue Water Mangrove ในระดับน้ำตื้นเพียงแค่ไม่กี่เมตร ในบริเวณข้างเกาะ Nampale

ฝูงปลากะพงแดงป่าโกงกาง (Mangrove Jack) ซุกซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดใต้ร่มเงาของรากไม้อันหนาทึบของป่าโกงกางในบริเวณ Blue Water Mangrove

ปะการังอ่อนหลากสีสันยึดเกาะกับรากของต้นโกงกางในน้ำที่ตื้นเพียงไม่กี่เมตร คือสิ่งที่ทำให้ Blue Water Mangrove ของราชาอัมพัตนั้นแตกต่างไปจากแนวป่าโกงกางทั่วไป

เรือให้บริการแบบ Liveaboard ที่มีหลากหลายรูปแบบและราคา เป็นวิธีการดำน้ำที่สะดวกที่สุดในการออกเดินทางไปดำน้ำในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของหมู่เกาะราชาอัมพัต ซึ่งเรือจะย้ายจุดดำน้ำไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน และบนเรือมีห้องพักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ต่างจากโรงแรมชั้นหนึ่งบนฝั่ง

นอกเหนือไปจากความยิ่งใหญ่และความงดงามของธรรมชาติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือความพยายามในการรักษาธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยทางสมาคมผู้ประกอบการดำน้ำได้ตกลงร่วมกันในการจำกัดจำนวนคนลงดำน้ำให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งเรือแต่ละลำต้องจัดระเบียบการลงดำน้ำให้เหลื่อมช่วงเวลากัน

เรื่อง : Nat Sumanatemeya ภาพ : Nat Sumanatemeya