Komodo Island Where Nature Meets Adventure
เที่ยวผจญภัยในโคโมโด ง่ายกว่าที่คิด!
ผมเดินทางไปเกาะโคโมโดครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ด้วยเครื่องบินใบพัดขนาดเล็กจากบาหลี แวะจอดรับผู้โดยสารและเติมน้ำมันไปตลอดทางกว่าจะถึงเมือง Labuan Bajo บนเกาะ Flores ที่เป็นประตูสู่เกาะโคโมโด แต่ทุกวันนี้มีท่าอากาศยานโคโมโดอันทันสมัยรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่บินตรงมาจากจาการ์ตาหรือบาหลีได้อย่างสะดวกสบาย เมือง Labuan Bajo ที่เคยเป็นเมืองท่าเล็กๆ ก็กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเกาะโคโมโด
ที่นี่มีกิจกรรมมากมายให้เลือกตามรสนิยมที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะมาเดินป่าระยะสั้นบนเส้นทางขึ้นจุดชมวิวที่มองเห็นท้องทะเลสีครามตัดกับทุ่งหญ้าสีเหลืองทองปกคลุมยอดเขาสูงของเกาะ Padar หรือเดินป่าไปดูมังกรโคโมโดที่อาศัยในพื้นที่อุทยาน ซึ่งมีหลายเส้นทางให้เลือก เช่น เส้นทางอ่าว Loh Liang บนเกาะโคโมโด และที่ Loh Buaya บนเกาะ Rinca หรือไปว่ายน้ำดูกระเบนราหูที่ Manta Point หลายๆ จุดในบริเวณ Karang Makassar หรือนั่งอาบแดดยามเย็นในบริเวณ Pink Beach ที่มีชื่อเสียง กิจกรรมเหล่านี้อาจเลือกเป็นโปรแกรมเรือเดย์ทริปจากในเมือง Labuan Bajo หรือจะมาพักบนเรือไม้แบบ Liveaboard ของท้องถิ่น ที่มีแพ็กเกจหลายระดับราคาให้เลือก แปรเปลี่ยนไปตามจำนวนวันที่เราเลือกก็ได้
สำหรับนักดำน้ำลึก ผมแนะนำให้ใช้บริการเรือดำน้ำแบบ Liveaboard ที่มีตั้งแต่เรือไม้ขนาดเล็กไปจนถึงเรือเหล็กขนาดใหญ่หรูหราไม่ต่างจากโรงแรมลอยน้ำได้ เพราะจะสามารถใช้เวลาดำน้ำและท่องเที่ยวไปตามเกาะต่างๆ ได้อย่างจุใจ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับทุกวัน แถมยังใช้ช่วงเวลาว่างระหว่างที่พักน้ำ ไปเดินป่า ขึ้นจุดชมวิว หรือไปดูมังกรโคโมโดได้ด้วย และยังเดินทางไปจุดดำน้ำที่ไกลๆ อย่างทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด ซึ่งมีจุดดำน้ำ Manta Alley ที่เราอาจพบปลากระเบนราหูนับสิบตัว หรือว่า Cannibal Rock ในบริเวณ Nusa Kode ทางตอนใต้ของเวิ้งอ่าวใหญ่ของเกาะ Rinca ซึ่งเป็นจุดที่มีสัตว์แปลกๆ เช่น กุ้งหรือปูตัวเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบของปะการังอ่อนหรือดอกไม้ทะเล และบริเวณตอนใต้ของเกาะ Rinca นี้ เราจะพบเห็นมังกรโคโมโดอยู่ที่ริมชายหาดได้ง่ายที่สุดด้วย
ถ้าถามผมว่า อะไรคือจุดเด่นของโลกใต้ทะเลของโคโมโด ผมคิดว่าตอบได้ยากมาก เพราะโคโมโดมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่งดงามและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในบางจุดดำน้ำอย่าง Batu Bolong ในแนวน้ำตื้นข้างชายหินลึกเพียงไม่กี่เมตร เราจะเห็นแนวปะการังที่ยาวออกไปสุดลูกตา และเหนือแนวปะการังนั้น เราจะเห็นฝูงปลาทองหรือ Basslet สีสันสวยงามนับพันนับหมื่นตัวแหวกว่ายไปมาเพื่อจับกินแพลงก์ตอน และเมื่อเราไต่กำแพงผาลงมา เราอาจพบฉลามหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น Grey Reef Shark หรือว่า Whitetip Reef Shark ว่ายออกมาล่าเหยื่อในบริเวณนอกแนวปะการัง
ในขณะที่จุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงอย่าง Shotgun เป็นการดำน้ำแบบ Drift Dive ที่เราจะปล่อยตัวให้ล่องลอยไปกับกระแสน้ำ และในบางครั้งก็อาจจะสวนกับปลาใหญ่อย่างกระเบนนกหรือฉลามที่ว่ายสวนมา
สำหรับคนที่ชอบสีสันของทากทะเล โคโมโดก็มีทากทะเลหรือ Nudibranch หลากหลายชนิดให้เราดูจนตาลาย เรียกได้ว่าตลอดทริปดำน้ำ 5-6 วันที่โคโมโดนั้น มีกิจกรรมแน่นๆ จุกๆ ทุกวัน ทั้งบนบกและใต้น้ำ
01
เกาะโคโมโด เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ใจกลางร่องน้ำระหว่างเกาะ Sumbawa และเกาะ Flores นอกจากชายหาดสวยงามและน้ำทะเลสีครามใสแล้ว ที่นี่ยังเป็นบ้านของมังกรโคโมโด สัตว์ในกลุ่มตะกวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของอินโดนีเซีย ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1991 พร้อมกับโบโรบูดูร์หรือบุโรพุทโธ วัดในพุทธศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และปราสาทปรัมบานัน เทวสถานฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย แนวสันทรายกลางทะเลในภาพนี้จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำในช่วงน้ำลงเต็มที่ในบริเวณ Karang Makassar ที่เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ อันเป็นจุด Cleaning Station ของปลากระเบนราหูหรือ Manta Ray และเป็นจุดที่นักดำน้ำและนักท่องเที่ยวนิยมไปดูปลากระเบนราหูมากที่สุดแห่งหนึ่งในเกาะโคโมโด
02
มังกรโคโมโด หรือ Komodo Dragon (Varanus komodoensis) อาศัยอยู่ในธรรมชาติที่ริมหาดทางตอนใต้ของเกาะ Rinca ซึ่งเป็นเวิ้งอ่าวขนาดใหญ่ บริเวณนี้ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวในตอนเหนือของเกาะโคโมโด ซึ่งมีผู้คนหนาแน่นเพราะอยู่ในรัศมีทำการของเรือเดย์ทริปที่มาจากเมือง Labuan Bajo การจะเข้ามาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและสภาพคลื่นลมส่วนใหญ่ค่อนข้างรุนแรงนั้น ทำได้โดยเรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveaboard เท่านั้น
03
มังกรโคโมโด เป็นสัตว์ในกลุ่มตะกวดขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน มีถิ่นอาศัยในธรรมชาติอยู่บนเกาะโคโมโด เกาะ Rinca และบางส่วนบนเกาะ Flores เพียงเท่านั้น เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวเฉลี่ย 2-3 เมตร มีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1910 และได้รับการจำแนกสายพันธุ์ใน ค.ศ. 1912 มังกรโคโมโดเป็นนักล่าที่ในบางครั้งอยู่รวมกันเป็นฝูง มักจะดักซุ่มรอจับเหยื่อขนาดใหญ่อย่างกวางหรือหมูป่าเป็นอาหาร เมื่อกัดเหยื่อได้ มันจะรอให้เหยื่อตายลงจากแผลที่เกิดจากแบคทีเรียในน้ำลายของมัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจึงค่อยตามไปกินซากเหยื่อตัวนั้นในธรรมชาติ เคยมีรายงานว่า มังกรโคโมโดเข้าทำร้ายมนุษย์อยู่บ้าง แต่ส่วนมากเหยื่อของมันตามธรรมชาติ คือกวางหรือหมูป่าที่มีอยู่ชุกชุมบนเกาะแห่งนี้มากกว่า
04
กวางป่าที่หากินบนทุ่งหญ้าสีทองของเกาะต่างๆ ในบริเวณเกาะโคโมโดและเกาะ Rinca เป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของมังกรโคโมโดที่คอยดักซุ่มรอจับเหยื่ออยู่ใต้พงหญ้าอันหนาทึบ การไป Trekking ในอุทยานแห่งชาติเกาะโคโมโดในจุดที่พบเห็นมังกรโคโมโดเป็นประจำนั้น จำเป็นต้องมี Park Ranger ที่คอยถือไม้ง่ามใช้ค้ำยันมังกรโคโมโดไม่ให้เข้ามาใกล้เราเสมอ และไม่ควรเดินแยกกลุ่มไปเพียงลำพัง
05
ฝูงกระเบนราหูหรือ Manta Ray นับสิบตัวว่ายเรียงกันมาเป็นขบวนบริเวณผิวน้ำเพื่อดักกรองกินแพลงก์ตอนที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำเป็นอาหาร กระเบนราหูที่พบในเกาะโคโมโดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Reef Manta Ray (Mobula alfredi) ที่มักจะวนเวียนหากินอยู่ในบริเวณเดิม หรือมีการอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางสั้นๆ ตามแหล่งอาหารในช่วงฤดูกาล Reef Manta Ray มักจะหากินในบริเวณร่องน้ำที่มีกระแสน้ำพัดพาเอาแพลงก์ตอนมา โดยอ้าปากกว้างแล้วว่ายสวนกระแสน้ำบริเวณใกล้ผิวน้ำ สลับไปกับการแวะเวียนลงไปทำความสะอาดร่างกายที่ Cleaning Station ซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนั้น
06
กระเบนราหูหรือ Manta Ray เป็นปลาขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ในจุดดำน้ำหลายๆ จุดในบริเวณเกาะโคโมโด เรียกได้ว่าทุกทริปที่ไปดำน้ำที่เกาะโคโมโดนั้น จะมีโอกาสพบเห็นปลากระเบนราหูนี้อย่างแน่นอน เพียงแค่ว่าจะเห็น 1-2 ตัว หรือจำนวนมากพร้อมๆ กันเป็น 10 ตัวหรือไม่เท่านั้นเอง กระเบนราหูสายพันธุ์ Reef Manta Ray ในบางครั้งมีลำตัวสีดำสนิททั้งด้านหลังและส่วนท้องดังเช่นที่เห็นในภาพตัวนี้ ซึ่งจะพบเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากระเบนราหูที่มีท้องสีขาว
07
ปลาผีเสื้อและปลานกขุนทองกำลังทำความสะอาดร่างกายให้กับปลากระเบนราหูในบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นที่เป็นกองหินกองเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ที่จุดดำน้ำ Karang Makassar ปลากระเบนราหูจะว่ายวนเวียนรอบกองหินเหล่านี้เป็นวงกลม เพื่อให้ปลาตัวเล็กๆ เก็บกิน Parasite ที่เกาะอยู่บนตัวของมัน ถ้าไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม เราอาจจะเห็นปลากระเบนราหูบางตัวว่ายวนทำความสะอาดร่างกายยาวนานนับชั่วโมง วิธีเฝ้าสังเกตที่ดีที่สุดคือ นักดำน้ำควรจะนั่งนิ่งๆ เฉยๆ และรักษาระยะห่างพอสมควร ไม่ว่ายน้ำพุ่งเข้าไปหา แต่รอจังหวะที่กระเบนราหูนั้นจะว่ายวนเข้ามาหาเราเอง
08
ฝูงปลาทองหรือ Basslet นับพันนับหมื่นตัวว่ายขึ้นมากลางน้ำเพื่อจับแพลงก์ตอนที่ลอยมากับกระแสน้ำกินเป็นอาหาร บริเวณเหนือแนวปะการังแข็งในแนวน้ำตื้นข้างจุดดำน้ำที่เรียกว่า Batu Bolong หรือ Current City กองหินที่อยู่กลางกระแสน้ำใจกลางร่องน้ำซึ่งเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะโคโมโด ซึ่งเราจะมองเห็นแนวปะการังแข็งยาวไกลสุดลูกหูลูกตา
โลกใต้น้ำของเกาะโคโมโดเป็นจุดหนึ่งที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก เนื่องจากเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณใจกลางความหลากหลายของแนวปะการังของโลก ในน่านน้ำ Coral Triangle ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นบ้านหลังใหญ่ของสรรพชีวิต ทำให้เกาะโคโมโดนั้นเป็นแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งสำหรับการดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น
09
ฝูงปลาขี้ตังเบ็ดนับร้อยเรียงตัวกันอยู่หลังกองหินเพื่อหลบกระแสน้ำ สำหรับนักดำน้ำหรือไดฟ์มาสเตอร์ที่ชำนาญพื้นที่ ในบางครั้งจะเฝ้ามองอากัปกิริยาของปลาฝูงและฟองอากาศที่เราหายใจออกมา เพื่อสังเกตดูว่าสภาพกระแสน้ำที่อยู่เบื้องหน้าห่างออกไปนั้นเป็นอย่างไร ในจุดดำน้ำบางแห่งอย่างที่ Batu Bolong ผมเคยเห็นปลานโปเลียนตัวใหญ่ หรือแม้กระทั่งปลาฉลามครีบขาว ที่ว่ายน้ำออกไปกลางน้ำ ถูกกระแสน้ำกดลงไปก่อนที่จะว่ายกลับมาหลบในบริเวณหลังหินเช่นเดียวกันกับเรา ถ้ามองออกไปไกลๆ แล้วเห็นฝูงปลาลอยตัวอยู่นิ่งๆ กลางน้ำ ก็แสดงว่าในจุดนั้นไม่มีกระแสน้ำ อย่างไรก็ดี การลงดำน้ำในบริเวณเกาะโคโมโดนี้ ห้ามประมาทเรื่องกระแสน้ำเด็ดขาด เพราะว่ากระแสน้ำอาจเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว พยายามอยู่ใกล้กับไดฟ์ลีดเดอร์ให้มากที่สุด
ผู้ที่จะมาดำน้ำในบริเวณเกาะโคโมโด ควรมีประสบการณ์ดำน้ำไม่น้อยกว่า 50 ไดฟ์ และเคยดำน้ำในทะเลเปิดมาพอสมควร เนื่องจากกระแสน้ำในบริเวณนี้บางช่วงเวลาและบางจุดค่อนข้างแรง อีกทั้งบางจุดมีลักษณะเป็น Down Current ที่กดลงไป การลงดำน้ำในบริเวณนี้ นักดำน้ำทุกคนต้องเชื่อฟังไดฟ์ลีดเดอร์ท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดำน้ำมากประสบการณ์แค่ไหนก็ตาม ก็ควรจะอยู่ในสายตาของไดฟ์ลีดเดอร์ตลอดเวลา และการวางแผนการดำน้ำในแต่ละจุดนั้นขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของคนในพื้นที่ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศและกระแสน้ำ เพราะการเดินทางบางครั้งในช่วงเวลาที่เรือแล่นสวนกระแสน้ำ ความเร็วเรืออาจลดลงไปบ้างสำหรับเรือขนาดเล็ก
010
จากจุดชมวิวบนเกาะ Padar เมื่อมองออกไปจะเห็นเกาะโคโมโดทอดตัวเป็นแนวยาวอยู่เบื้องหน้า และจะเห็น Pink Beach ทอดตัวโค้งยาวอยู่ด้านบน เมื่อมองจากสภาพแสงในตอนกลางวัน เราจะเห็นว่ามีเพียงแค่บางส่วนของหาดที่อยู่ติดทะเลเท่านั้นที่มีสีออกชมพูอ่อนๆ ปะปนไปกับทรายปกติ ไม่ได้มีสีชมพูเหมือนภาพที่ผ่านการปรับโดยโปรแกรมแต่งภาพจนเกินจริงแต่อย่างใด
011
Pink Beach เป็นชายหาดที่ทรายบางส่วนมีสีชมพู อันเนื่องมาจากปะการังชนิดหนึ่งคือ Pipe Organ Coral (Tubipora musica) ที่มีอยู่มากมายในบริเวณใกล้หาดนั้น เวลาที่โดนคลื่นลมแตกหักเสียหายและย่อยสลายกลายเป็นทราย ก็จะปะปนไปกับทรายทั่วไป ทำให้บางส่วนของทรายในบริเวณนั้นมีสีออกชมพู
012
ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวบริเวณ Pink Beach ในช่วงเย็นค่อนข้างเงียบกว่าช่วงกลางวันที่ปกติคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มากับเรือเดย์ทริปจากเมือง Labuan Bajo การมาดำน้ำและใช้ชีวิตบนเรือดำน้ำแบบ Liveaboard นั้นมีข้อดีคือ เราสามารถเลือกเวลาในการเข้าพื้นที่ได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาเดินทางกลับไปพักที่ตัวเมือง ซึ่งจะต้องกลับไปก่อนค่ำ อีกทั้งในช่วงเช้าเราสามารถเข้าไปในหลายๆ พื้นที่ได้ก่อนที่เรือเดย์ทริปจะเดินทางมาถึง
013
Amphipod หรือ Ladybug ตัวจิ๋วสีสันสวยงาม พบมากทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด ในบริเวณรอบๆ Nusa Kode ซึ่งเป็นจุดดำน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพมาโครใต้น้ำ
014
ม้าน้ำแคระตัวจิ๋วหรือ Pygmy Seahorse (Hippocampus bargibanti) ที่มีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตร เป็นปลาชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในบริเวณเกาะโคโมโด ซึ่งจะพรางตัวให้กลมกลืนไปกับกัลปังหาที่อาศัยอยู่ ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1970 ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนรู้ว่ามีม้าน้ำตัวจิ๋วนี้อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล จนกระทั่งภัณฑารักษ์ชาวนิวแคลิโดเนียได้ออกไปเก็บตัวอย่างกัลปังหา และพบว่าในตัวอย่างที่เก็บมานั้นมีม้าน้ำตัวเล็กจิ๋วติดมาด้วย การค้นพบครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของโลกที่ทำให้เรารู้จักกับปลาในกลุ่มนี้
015
กุ้ง Coleman Shrimp เป็นกุ้งตัวเล็กๆ สีสันสดใส อาศัยอยู่บนเม่นไฟหรือ Fire Urchin พบมากทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด
016
เมือง Labuan Bajo เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวในบริเวณเกาะโคโมโด ที่นี่มีท่าเทียบเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เรือแทบทุกลำทั้งเรือเดย์ทริปและเรือ Liveaboard ต่างมาจอดรอรับนักท่องเที่ยวในบริเวณนี้
017
ท่าอากาศยานโคโมโดอันทันสมัยในวันนี้ช่างดูแตกต่างจากในวันแรกที่ผมมาเยือนเมื่อกว่า 20 ปีก่อนอย่างแทบจำไม่ได้
018
สภาพของสนามบินโคโมโดและเครื่องบินที่ผมใช้เดินทางจากบาหลีไปยังเกาะโคโมโดครั้งแรกใน ค.ศ. 2001 ที่ต้องจอดแวะเติมน้ำมันและรับส่งผู้โดยสารไปตลอดทาง
เรื่องและภาพ : นัท สุมนเตมีย์