Alaska - A Paradise for Nature Lovers

Travel Stories
6 ก.ย. 67
35
0

พูดถึงอะแลสกา คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญลำหรู แต่ผมกลับใฝ่ฝันที่จะได้ไปใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติตามวิถีอเมริกันแท้ๆ เดินลุยน้ำล่องไปในลำธาร ตกปลาแบบฟลายฟิชชิง และถ่ายภาพหมีสีน้ำตาลในดินแดนอันห่างไกลแห่งนี้

ผมหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและได้พบกับ Bob May พรานล่าหมีผู้มีชื่อเสียงแห่งเกาะ Kodiak บ็อบมีเคบินหลังเล็กๆ ชื่อว่า Ashama Point Lodge บนเกาะ Whale ทางตอนเหนือของเกาะ Kodiak และนี่แหละคืออะแลสกาที่ผมใฝ่ฝัน

จากกรุงเทพฯ ผมเดินทางไปเริ่มต้นที่ Anchorage เมืองใหญ่สุดในรัฐอะแลสกา ที่ตั้งสนามบินนานาชาติ Ted Stevens Anchorage Airport แล้วต่อเครื่องบินอีก 1 ชั่วโมงไปเกาะ Kodiak ถึงที่หมายในช่วงบ่าย เข้าเช็กอินที่ Best Western Kodiak Inn ในตัวเมือง เพราะมีพายุฝน คลื่นในทะเลค่อนข้างสูง ทำให้บ็อบนำเรือออกไปที่เคบินไม่ได้

ผมไปเดินเล่นในตัวเมือง แวะร้านอุปกรณ์ตกปลาเพื่อซื้อ Wader ช่วยป้องกันความหนาวเย็นขณะเดินลุยน้ำ และเหยื่อฟลายที่ทำเลียนแบบแมลงและลูกปลาตัวเล็กๆ พร้อมกับซื้อใบอนุญาตตกปลาของรัฐอะแลสกาที่มีให้เลือกแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี รวมทั้งศึกษาเรื่องขนาดและสายพันธุ์ปลาที่จะเก็บได้ในแต่ละวัน ส่วนปลาที่ไม่ได้ขนาดนั้นต้องปล่อยกลับลงลำน้ำทุกตัว

บ็อบมารับตอนเช้า ขับรถพาขึ้นไปทางเหนือของเกาะ Kodiak เพื่อลงเรืออะลูมิเนียมลำเล็กๆ ไปยังเคบินบนเกาะ Whale ระหว่างทางได้เห็นสรรพสัตว์มากมาย เช่น ฝูงนากทะเล หรือ Sea Otter และนก Puffin เป็นต้น เราถึงเคบินกลางป่าราวบ่าย 2 โมง พักรับประทานอาหารกลางวันก่อนออกไปตกปลาตอน 4 โมงเย็น โดยลงเรืออะลูมิเนียมข้ามอ่าวจากเกาะ Whale ไปยังเกาะ Afognak และล่องเรือเข้าไปตามลำน้ำจนสุดทาง จอดเรือไว้ข้างตลิ่งแล้วเดินต่อไปบริเวณต้นน้ำที่มีแนวสลิงขึงขวางลำน้ำไว้ เราต้องตกปลาใต้แนวสลิงนี้ เพราะเหนือสลิงขึ้นไปเป็นเขตวางไข่ผสมพันธุ์ของปลาแซลมอนนานาชนิด ห้ามคนเข้าไปรบกวน จะมีเจ้าหน้าที่ Fish and Wildlife คอยเฝ้าอยู่ เราตกปลาจนค่ำ ได้ปลาหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็น Dolly Varden สลับไปกับ Pink Salmon หรือ Humpy และ Red Salmon หรือ Sockeye

จากเกาะ Kodiak ผมขึ้นเครื่องบินกลับมาที่เมือง King Salmon เพื่อต่อเครื่องบินน้ำไปยัง Brooks Lodge ที่ตั้งอยู่ใจกลาง Katmai National Park แหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนจากทั่วโลกมารอดูหมีสีน้ำตาลยืนตะปบปลาแซลมอนที่กระโดดพุ่งสวนน้ำตกขึ้นมาเพื่อขึ้นไปวางไข่ผสมพันธุ์ในบริเวณเหนือน้ำตก

วันแรกผมจ้างไกด์พาเดินตกปลาในลำน้ำเพื่ออาศัยประสบการณ์อ่านลำน้ำของเขาว่า จุดไหนเป็นจุดที่ปลาน่าจะไปหลบคอยดักเหยื่ออยู่ ไกด์จะสอนด้วยว่า หากเดินสวนกับหมีสีน้ำตาล เราต้องทำอย่างไร บางครั้งก็หยุดคอยให้มันเดินผ่านไปก่อน หรือหากมันหยุดอยู่เฉยๆ ไกด์ก็จะพาเราเดินตัดอ้อมไปราวกับเดินผ่านตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ตัวหนึ่งแค่นั้นเอง สิ่งสำคัญที่สุดที่ไกด์กำชับเราตลอดเวลาคือ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ห้ามหันหลังและวิ่งหนีหมีเป็นอันขาด ให้หยุดและคอยเคลื่อนที่ไปช้าๆ

ผมใช้เวลานานนับสัปดาห์กับ 2 บรรยากาศในอะแลสกา ที่ผมเชื่อว่าสำหรับคนรักธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะเคบินกลางป่าบนเกาะ Whale ที่สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณความเป็นอเมริกันแท้ๆ หรือใจกลางเขตสงวนรักษาพันธุ์หมีสีน้ำตาล สัญลักษณ์ของอะแลสกา ล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีค่าคู่ควรกับการเดินทางมาเยือนอย่างแท้จริง

กลุ่มม่านเมฆหนาทึบปกคลุมเหนือแนวป่าสน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของเกาะ Kodiak เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา รองจากเกาะ Big ในรัฐฮาวาย แต่ทั้งเกาะมีประชากรแค่ 10,000 กว่าคนเท่านั้น

อะแลสกา เป็นดินแดนที่สหรัฐอเมริกาซื้อต่อมาจากรัสเซียใน ค.ศ. 1867 นับเป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่มีประชากรเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่น้อยที่สุดเพียงประมาณ 1.3 คนต่อตารางไมล์เท่านั้นเอง ในช่วงฤดูร้อนเราจะเห็นภาพทุ่งดอกไม้และทิวสน อันเป็นเสน่ห์ที่งดงามของ อะแลสกา ตามสองข้างทางจนเป็นเรื่องชินตา

นกอินทรีหัวขาว หรือ American Bald Eagle เป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1789 ด้วยความสง่างามที่เป็นเอกลักษณ์ นกชนิดนี้มักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และจับปลา รวมทั้งปลาแซลมอน กินเป็นอาหาร เป็นนกที่ได้รับการคุ้มครองในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1940

นากทะเล หรือ Sea Otter จับกลุ่มนอนอยู่บนยอดสาหร่าย Kelp ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ โดยใช้ขาเกี่ยวกับใบสาหร่ายนี้ไว้เพื่อไม่ให้คลื่นลมและกระแสน้ำพัดพาหลุดลอยออกไปไกลๆ

นากทะเลเป็นสัตว์ที่ดำน้ำเก่ง และคอยควบคุมประชากรของหอยเม่นที่กินสาหร่าย Kelp เป็นอาหารอีกทีหนึ่ง ด้วยการดำน้ำลงไปงมหอยเม่นขึ้นมาต่อยกินเป็นอาหาร บางครั้งเราจะเห็นพวกมันเอาหินมาต่อยเปลือกหอยเม่นแล้วนอนหงายหลังกินหอยเม่นในบริเวณผิวน้ำอย่างสบายใจ

Puffin เป็นนกทะเลที่อาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ มีหน้าตาและสีสันงดงาม มักอยู่รวมกันเป็นฝูง และทำรังอยู่ตามรอยแตกหรือรอยแยกตามหน้าผาหินริมทะเล

ที่อะแลสกาเราจะพบเห็นนก Puffin อยู่ 2 ชนิด คือ Horned Puffin และ Tufted Puffin ในภาพนี้คือ Horned Puffin เห็นได้จากหน้าอกสีขาว บริเวณปลายจะงอยปากมีสีส้ม และบริเวณเหนือตาของนกตัวโตเต็มวัยจะมีติ่งสีดำคล้ายๆ เขาโผล่ขึ้นมาสั้นๆ

หลายคนอาจคิดว่านก Puffin บินไม่ได้ เพราะว่ามีหน้าตาที่ดูตลก คล้ายกับนกเพนกวิน แต่ความจริงแล้วนก Puffin บินได้เร็วทีเดียว แม้ว่าจะมีปีกเล็กและสั้นก็ตาม นอกจากนี้ยังดำน้ำเก่ง สามารถดำน้ำลงไปจับปลาได้ลึกนับร้อยฟุต และอยู่ในน้ำได้นานถึง 2 นาที

ในภาพนี้คือ Tufted Puffin เห็นได้จากหน้าอกสีดำ และมีจุกสีขาวบนหัว

เคบินกลางป่าอันเงียบสงบของ Bob May ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนเกาะ Whale ทางตอนเหนือของเกาะ Kodiak เป็นบ้านพักที่น่าอยู่มาก เพราะเราได้ใช้ชีวิตเพียงลำพังอย่างสบายท่ามกลางธรรมชาติรอบตัว บ้านหลังนี้เคยถ่ายทำเรียลลิตี Building Alaska ทางช่อง DIY Channel ในอเมริกา ที่บ็อบกับลูกชายช่วยกันสร้างบ้านขึ้นมาด้วยมือของพวกเขาเอง โดยไม่ได้จ้างช่างจากที่ไหนมาเลย บ้านหลังใหญ่มีห้องนอนง่ายๆ 3 ห้อง ภายในตกแต่งสวยงาม แทบไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรมากมายจนเกินจำเป็น ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดจากการปั่นกระแสไฟฟ้ามาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ส่วนบ้านหลังเล็กคือที่ซึ่งบ็อบและ Denise ภรรยาของเขา อาศัยอยู่ เป็นทั้งบ้านและห้องเก็บของของพวกเขา

ฝูงปลาในกลุ่ม Salmonid หลากหลายสายพันธุ์แหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำที่ลึกแค่เข่า ในบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำ Afognak บนเกาะ Afognak ทางตอนเหนือของเกาะ Kodiak ไม่ว่าจะเป็น Sockeye Salmon ตัวสีแดง หรือ Coho Salmon ตัวสีเงิน และฝูงปลา Dolly Varden ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศเล็กๆ ในแม่น้ำสายนี้

Dolly Varden เป็นปลาในกลุ่ม Salmonid ที่พบเห็นบ่อยมากที่สุดชนิดหนึ่งในอะแลสกา เป็นปลาที่ไม่ใช่ทั้ง Trout และ Salmon แต่เป็นอีกกลุ่มย่อยที่เรียกว่า Char (Salvelinus)

Pink Salmon เป็นหนึ่งในปลาแปซิฟิกแซลมอน 5 สายพันธุ์ที่พบเห็นได้บ่อยในอะแลสกา ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีหลังที่งองุ้ม ทำให้ในบางครั้งเรียกกันว่า Humpy Salmon

Bob May หรือที่รู้จักกันในฉายา Bear Whisperer พรานล่าหมีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งเกาะ Kodiak นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ดำเนินรายการเกี่ยวกับธรรมชาติในช่องเคเบิลทีวีหลายช่องในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ชุด Kodiak ทาง Discovery Channel และ Building Alaska ทาง DIY Channel ในภาพนี้บ็อบสวมชุด Wader กันน้ำ และพกปืนสั้นขนาด .44 แม็กนั่ม ไว้ในซองพกข้างตัวตลอดเวลา ในกรณีฉุกเฉินที่อาจต้องใช้เสียงปืนเพื่อไล่หมีแม่ลูกอ่อนที่มีอยู่มากมายในบริเวณนั้น

Bob May ขณะกำลังแล่ Red Salmon เพื่อนำมาย่างให้เรากินบนเตาบาร์บีคิวของเขาในบริเวณริมหาดหน้าบ้านพักบนเกาะ Whale

ชีวิตกลางป่าอันเงียบสงบในดินแดนที่ห่างไกลของอะแลสกานั้นช่างดูเรียบง่าย มองไปรอบๆ ตัวจะไม่เห็นบ้านหลังอื่นเลย บรรยากาศยังไม่มืดทั้งๆ ที่เป็นเวลาเกือบ 4 ทุ่มแล้ว เพราะฤดูร้อนของซีกโลกเหนือมีกลางวันยาวนานมาก

Friends don’t let friends eat farmed salmon เป็นคำขวัญของเกาะ Kodiak แห่งนี้ ที่เป็นเสมือนเมืองหลวงแห่งหนึ่งของ Wild Caught Salmon ในสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ทำฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนในกระชัง เพราะสารตกค้างจากอาหารและยาในกระชังส่งผลกระทบหลายอย่างกับแซลมอนในธรรมชาติ และถ้าเราได้มาเห็นจำนวนปลาแซลมอนมากมายมหาศาลที่อพยพเข้ามาวางไข่ผสมพันธุ์ในแต่ละปีแล้ว จะพบว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนในบริเวณนี้เลย เพียงแค่คอยเฝ้าดูแลรักษาพื้นที่ให้แซลมอนได้มีโอกาสขยายพันธุ์ตามฤดูกาลอย่างเหมาะสมก็เพียงพอแล้ว แซลมอนที่ดีที่สุดต้องเป็นแซลมอนที่จับมาจากทะเลในช่วงก่อนเข้ามาในปากแม่น้ำ และเมื่อได้มีโอกาสกินแซลมอนสดๆ ที่ไม่แช่แข็ง จากใจกลางเมืองหลวงแห่งแซลมอนนี้แล้ว บอกได้คำเดียวว่าช่างแตกต่างมากมายจากแซลมอนที่เราเคยกินมาทั้งชีวิต

การเดินทางจากเมือง King Salmon ไปยัง Brooks Lodge ต้องนั่งเครื่องบินน้ำ นักท่องเที่ยวที่จะมาที่นี่ต้องฝากสัมภาระส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ไว้ที่ท่าสนามบินน้ำในเมือง King Salmon และนำของติดตัวมาเท่าที่จำเป็นในการพักแรมเท่านั้น ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาเด็ดขาด

เมื่อมาถึง Brooks Lodge ทุกคนต้องเข้าฟังบรรยายสรุปถึงกฎระเบียบและข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิตร่วมกับหมีสีน้ำตาลที่เดินไปมาอย่างอิสระในบริเวณรอบๆ ที่พักและน้ำตก ไม่ว่าเวลาที่เราเดินสวนกับหมี หรือขณะที่เราตกปลาอยู่แล้วหมีเดินเข้ามาแย่งปลาที่เราตกได้ จะต้องทำตัวอย่างไร สิ่งที่สำคัญนอกไปจากนั้นคือ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามากินหรือทิ้งไว้ในห้องพักเป็นอันขาด เพราะว่าหมีอาจได้กลิ่นอาหารและเข้ามารื้อห้องพักเราได้ เวลาเดินเข้าไปในป่าในมุมที่ลับตา เราต้องคอยตะโกนพูดว่า Hey bear! Hey bear! หรือว่าพกกระดิ่งติดตัวไว้ให้หมีนั้นได้ยินเสียงเสมอ เพราะว่าถ้าหากเดินสวนกันในระยะประชิดแล้วหมีเกิดตกใจขึ้นมาอาจเป็นอันตรายได้

ห้องอาหารของที่นี่เปิดปิดเป็นเวลา ดังนั้นไม่ว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน ตกปลาหรือว่าถ่ายภาพหมีอยู่ ต้องกลับมากินอาหารก่อนที่ร้านจะปิดในเวลา 2 ทุ่ม

ใน Katmai National Park เรามีโอกาสพบเจอหรือเดินสวนกับหมีสีน้ำตาลได้ตลอดเวลา ลูกหมีตัวนี้เดินมาบนถนนระหว่างที่เรากำลังทยอยเดินลงจากเครื่องบินน้ำในบริเวณใกล้กับที่พักของเรา

Brooks Fall น้ำตกเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในอะแลสกา ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ Katmai เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนมารอดูหมีสีน้ำตาลยืนดักจับปลาแซลมอนที่กระโดดพุ่งสวนน้ำตกขึ้นมา และหมีสีน้ำตาลก็จะใช้อุ้งเล็บคอยตะปบปลาแซลมอนที่ลอยตัวอยู่กลางอากาศ

ผู้ที่จะมาเฝ้าถ่ายภาพจังหวะที่หมีตะปบปลาแซลมอนนั้น ต้องลงชื่อจองห้องพักที่ Brooks Lodge ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมกราคม นักท่องเที่ยวแต่ละคนสามารถใช้สิทธิ์จองที่พักได้เพียงคนเดียว และไม่เกิน 3 คืนเพียงเท่านั้น

หมีสีน้ำตาล หรือ Alaskan Brown Bear ขณะลงน้ำจับปลาแซลมอนกินเป็นอาหาร ในบริเวณน้ำตก Brooks Fall ซึ่งเป็นจุดชมหมีสีน้ำตาลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่พักใน Brooks Lodge ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องจองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมกราคม โดยใช้ระบบล็อตเตอรีว่าวันที่เราต้องการจะพัก หรือว่าห้องพักที่เราต้องการนั้นจะมีช่วงวันไหน เมื่อได้ที่พักแล้ว ต้องจองและจ่ายค่ามัดจำทันที ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการมาเฝ้ารอถ่ายภาพหมีสีน้ำตาล คือระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งบางครั้งอาจมีหมีสีน้ำตาลนับสิบตัวมายืนคอยจับปลาแซลมอนอยู่ในบริเวณเหนือน้ำตก

Sockeye Salmon ขณะกระโจนขึ้นกลางอากาศเหนือน้ำตก Brooks Fall เพื่อไปวางไข่ผสมพันธุ์ในบริเวณต้นน้ำด้านบนที่อยู่เหนือน้ำตกขึ้นไป

ผมเดินตกปลากับไกด์ไม่กี่ชั่วโมง ได้ Rainbow Trout สีสวยมา 3 ตัว, Sockeye Salmon ที่ตกด้วยวิธีใช้ Salmon Egg Fly 2 ตัว, Pink Salmon โดยใช้เหยื่อ Streamer 1 ตัว และ Arctic Grayling ที่มีครีบหลังสวยงาม 2-3 ตัว ก่อนที่ในช่วงเย็นผมจะหยิบเลนส์เทเลโฟโต้พร้อมกล้องเดินไปเฝ้าถ่ายภาพหมีสีน้ำตาลที่มาป้วนเปี้ยนหาปลาในบริเวณใกล้ๆ Viewing Platform

หมีสีน้ำตาลเมื่อยืนขึ้นสองขาจะมีลำตัวสูงถึงประมาณ 9 ฟุต และสามารถเดินลุยน้ำในลำธารที่มีความลึกได้มากกว่าปกติ หากเป็นบนบก จะยืนสองขาได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

หมีสีน้ำตาลมีสายพันธุ์ย่อยกระจายไปในหลายพื้นที่ในซีกโลกตอนเหนือ ไม่ว่าจะในอะแลสกา แคนาดา รัสเซีย และหลายๆ พื้นที่ในยุโรป แต่หมีสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นจะพบในบริเวณเกาะ Kodiak และเกาะ Afognak ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า หมีโคดิแอ็ค (Kodiak Bear)

เราอาจเคยสับสนกับชื่อ หมีกริซลี (Grizzly Bear), หมีสีน้ำตาล (Alaskan Brown Bear) และหมีโคดิแอ็ค (Kodiak Bear) ทั้ง 3 ชนิดนั้นต่างเป็นหมีชนิดเดียวกัน คือ Ursus Arctos แต่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป จนกลายเป็นสายพันธุ์ย่อยที่แยกออกจากกัน

Grizzly Bear (Ursus Arctos Horribilis) อาศัยอยู่ในตอนเหนือของอเมริกา สิ่งที่แตกต่างไปจาก Alaskan Brown Bear หรือ Coastal Brown Bear คืออาหารที่มันกิน มันจะกินอาหารที่หลากหลาย ทั้งลูกเบอร์รี รากไม้ ซากสัตว์ที่ตายแล้ว ในขณะที่ Alaskan Brown Bear กินปลาแซลมอนและปลาชนิดต่างๆ เป็นอาหารหลัก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทำให้ Alaskan Brown Bear มีขนาดใหญ่กว่าและสีสันบนลำตัวค่อนข้างเข้มกว่า Grizzly Bear ส่วน Kodiak Bear (Ursus Arctos Middendorffi) ที่พบบนเกาะ Kodiak และเกาะ Afognak นั้นเป็นหมีสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักถึง 1 ตัน และมีขนาดใกล้เคียงกับ Polar Bear หรือหมีขั้วโลก และเมื่อยืนด้วยสองขา อาจสูงถึง 10 ฟุต

ทางเดินไม้สู่ Viewing Platform สำหรับเฝ้าชมหมีสีน้ำตาลบริเวณน้ำตก Brooks Fall จุดที่ชมหมีนั้นค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากอัฒจันทร์ที่เรายืนอยู่สูงกว่าน้ำตก ซึ่งปกติหมีจะไม่ปีนขึ้นมา เพราะในน้ำตกเต็มไปด้วยปลาแซลมอนที่เป็นอาหารของมัน อย่างไรก็ตาม ทางเดินนี้มีประตูเหล็กที่แข็งแรงมากกั้นอยู่ สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องทำคือ เมื่อเดินเข้าไปแล้ว ต้องปิดประตูนี้ให้แน่น ไม่ให้หมีเดินเข้าไปจากทางด้านหลังนี้ได้

 

เรื่องและภาพ : นัท สุมนเตมีย์